
รับมือ เมื่อเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
เชื่อว่าหลายๆ คน คงมีประสบการณ์คนใกล้ตัวหรือคนรู้จักเป็นโรคหลอดเลือดสมอง วันนี้เราจะมาให้คำแนะนำเพื่อรับมือ หากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์นี้เกิดขึ้นกับคนที่เรารัก เราต้องทำอย่างไรบ้าง
เริ่มแรกที่อาการที่น่าจะสงสัย ภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ มีหลักจำง่ายๆ ว่า F A S T
F คือ FACE ใบหน้า ชาบริเวณใบหน้า, รอบปาก, ปากเบี้ยว, มุมปากตก, ตาพร่ามัว, หน้ามืด, บ้านหมุน หรือมองไม่เห็นชั่วขณะ ในบางรายจะมีอาการความจำเสื่อมหรือจำเรื่องราวบางอย่างไม่ได้
A คือ ARM แขนขาชาหรืออ่อนแรง ข้างใดข้างหนึ่ง ไม่สามารถทรงตัวได้
S คือ SPEECH พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ สับสนในการสื่อสาร มีการกระตุกขณะพูด หรือการสำลักอาหาร
T คือ TIME เวลา ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก การส่งผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ยิ่งมีผลต่อการรักษาให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติ
กรณีที่สมองได้รับความเสียหาย ในคนไข้แต่ละคนจะแสดงอาการแตกต่างกันไปเช่น หากสมองส่วนควบคุมการพูดได้รับผลกระทบ ผู้ป่วยเข้าใจสิ่งต่างๆรอบตัวแต่ไม่สามารถพูดออกมาให้ผู้อื่นเข้าใจได้ หรือหากศูนย์การใช้ภาษาได้รับความเสียหายก็อาจจะไม่เข้าใจภาษาที่เราพูด อาการจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับสมองส่วนใดที่ได้รับผลกระทบ เมื่อมีการแสดงอาการที่ชวนให้สงสัยภาวะหลอดเลือดในสมองตีบ สิ่งที่ควรทำคือ การนำส่งผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์ โดยเร็วที่สุด หรือภายในเวลา 4 ชั่วโมง 30 นาที ยิ่งมาเร็วเท่าไหร่ ผลการรักษาก็จะดีขึ้น การรักษาโดยทันท่วงทีจะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยหรือลดความรุนแรงของโรคได้ กรณีที่รุนแรงรักษาไม่ทันการณ์ อาจถึงขั้นเสียชีวิตหรือเป็นอัมพาตถาวรได้
เมื่อมาถึงมือแพทย์ระบบประสาทและสมองแล้ว แพทย์จะตรวจเพื่อวินิจฉัยโดยการใช้เครื่อง CT scan หรือ MRI เพื่อยืนยันการวินิจฉัย หลักจากนั้นก็จะรีบให้การรักษา ซึ่งการรักษาก็มีได้หลายแนวทาง เช่น
การให้ยาสลายลิ่มเลือด คือ การทำให้ลิ่มเลือดที่ไปขวางในหลอดเลือดสลายออกไป
การใช้ขดลวดดึงลิ่มเลือด เช่นเดียวกับการใช้ยาสลายลิ่มเลือด แต่ใช้ขดลวดสอดเข้าไปทางเส้นเลือดเพื่อไปดึงลิ่มเลือดออก
การทานยาแอสไพริน(กรณีภาวะเส้นเลือดตีบ แต่ถ้าเป็นกรณีเส้นแตก ห้ามทานยาแอสไพริน)
การผ่าตัด ซึ่งเป็นกรณีที่มีความรุนแรง สมองบวมมาก หรือเพื่อนำเลือดที่กดเนื้อสมองออก
ในระยะยาว ควรรักษาปัจจัยเสี่ยงในทุก ๆ ด้าน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมัน และหยุดสูบบุหรี
ในส่วนของการรักษาให้หายเป็นปกติได้หรือไม่นั้น ขึ้นกับความเสียหายของเนื้อสมองและส่วนสมองที่เหลืออยู่ และการฟื้นฟูหรือการกายภาพบำบัดหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่อาจจะทำให้ผู้ป่วยกลับมา เดินได้ ช่วยเหลือตนเองได้ และกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีดังเดิม โดยการฟื้นฟูนั้นจะให้ผลดีที่สุดหากมีการฝึกตั้งแต่ 3-6 เดือนแรก หากพ้น 6 เดือนไปแล้วผู้ป่วยมักจะอยู่ในสภาพนั้นไปตลอด
อย่างไรก็ตาม การป้องกันเป็นเรื่องที่ดีกว่าการรักษา การปรับพฤติกรรมการบริโภค ทานอาหารที่มีกากใยอาหาร ไขมันน้อย และหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะบางครั้ง โรคหลอดเลือดสมองในหลายกรณี ไม่มีการแสดงอาการหรือเตือนล่วงหน้า และอยู่ใกล้ตัวคุณมากกว่าที่คิด
เครดิต : นายแพทย์เหมริน พิพัฒน์ผจง อายุรแพทย์โรคระบบประสาทและสมอง
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและโรคหลอดเลือดสมอง Akkara Care พร้อมด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด โภชนกร สามารถให้คำแนะนำในทุกๆ ด้านสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และมีสถานที่ที่พร้อมสำหรับการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหรือผู้สูงอายุโดยเฉพาะ สามารถเข้าเยี่ยมชมสถานที่จริง หรือ ชมตัวอย่างได้ที่ www.akkaracare.com ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่เบอร์ 0863182604, 0971014082